มารยาททางสังคม : สิ่งที่ดูเล็กน้อยแต่สำคัญ
ก่อนที่จะกล่าวถึง “มารยาททางสังคม” ผู้เขียนขอให้มาทำความรู้จักกับคำว่า “มารยาท” ก่อนว่า คืออะไร “มารยาท” หรือ “มรรยาท” (etiquette or good manners) หมายถึง กิริยาวาจาที่ถือว่าสุภาพเรียบร้อย ถูกกาลเทศะ หรือก็คือ การแสดงออกที่มีแบบแผนในการประพฤติปฏิบัติโดยได้รับการอบรมให้งดงามตามความนิยมแห่งสังคมมารยาท ไม่ได้ติดตัวมาแต่เกิด แต่ได้มาจากสิ่งแวดล้อม มีการศึกษา อบรมเป็นสำคัญ ดูกิริยา ฟังวาจาของคนแล้ว พอคาดได้ว่าผู้นั้นได้รับการศึกษาอบรมมาอย่างไร พื้นฐานที่สำคัญที่สุดของมารยาท คือ
ความสุภาพและสำรวม คนสุภาพจะเป็นคนที่มีจิตใจสูงเชื่อมั่นในตัวเอง เพราะคนที่มีอะไรในตัวเองแล้วจึงจะสุภาพอ่อนน้อมได้ ความสุภาพอ่อนน้อมมิได้เกิดจากความเกรงกลัว แต่ถือว่าเป็นความกล้า
มารยาทเป็นคุณลักษณะประจำตัวของบุคคล ได้แก่ การสัมมาคารวะ ความสุภาพ อ่อนน้อม ความมีวินัยและพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ปรากฏแก่สายตาของผู้อื่น มารยาทเป็นคุณลักษณะประจำตัวของบุคคล
ปัจจุบันด้วยพิษของโลกาภิวัฒน์และโลกของการแข่งขันและการทำงานให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม ที่แย่งเวลาในการที่จะปลูกฝังสิ่งดีงามเหล่านี้ไป เกิดการหลงลืมคำว่า “มารยาท” และได้เกิดการทำสิ่งต่าง ๆ ที่ยึดตนเองเป็นหลัก โดยไม่ได้คำนึงถึงคนในสังคมรอบข้างว่าเขาจะรู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่ตนเองกระทำ กล่าวง่ายๆ ว่า “ไม่เอาใจเขามาใส่ใจเรา เพราะไม่ใช่เรื่องของเรา เรื่องของเรา คือ เราต้องสบาย ต้องได้ ไม่ต้องเสีย หรือต้องสำเร็จ” จึงทำให้สังคมเกิดความสับสนว่า “สิ่งใดควรทำและสิ่งใดไม่ควรทำ” “สิ่งใดเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม” “สิ่งใดถูกกาลเทศะหรือไม่ถูกกาลเทศะ” บุคคลที่มีกริยามารยาทดีจะมีโอกาสได้รับความนิยมชมชอบและชื่นชมจากบุคคลรอบข้าง
ไม่มีกริยาที่แสดงท่าทีข่มคนอื่น เพื่อให้เขาดูด้อยกว่าตนเอง ซึ่งดูเหมือนจะดีที่สร้างสถานการณ์ที่เหนือกว่าบุคคลอื่น แต่สิ่งที่ทำไปนั้น กลับติดลบ เพราะสิ่งที่ทำไปไม่ได้ใจคนที่เห็นหรือคนที่ถูกกระทำ และบางครั้งกลับกลายเป็นการเอาคืน จึงทำให้บรรยากาศดี ๆ ที่จะทำให้การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขหายไป และถ้าเป็นหน่วยงานที่ต้องทำงานร่วมกันด้วยแล้ว ความร่วมมือในการทำงานจะหายไป ผลงานที่ได้อาจไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ควรจะเป็น บางครั้งดูเหมือนประสบความสำเร็จดี แต่ถ้ามองลึกลงไปในรายละเอียดแล้วจริง ๆ อาจไม่ได้ประสบความสำเร็จจริง ๆ ก็ได้
การที่จะทำให้ครอบครัว หน่วยงาน และสังคมน่าอยู่นั้น สิ่งที่ต้องปลูกฝังและฝึกฝนมาตั้งแต่เล็กจนโต เพราะมารยาทแสดงออกมาที่กิริยาท่าทางและการพูดจา อาศัยการบอกอย่างเดียวไม่ได้ ต้องฝึกเองจนเกิดขึ้นเป็นอัตโนมัติ คนดี มารยาทดีเท่ากัน แต่อาจไม่เหมือนกัน เพราะคนมีบุคลิกภาพต่างกัน การแสดงออกย่อมต่างกัน
ต้องแสดงออกมาแล้วเป็นผลดีแก่ตัว เพราะทำให้ผู้อื่นพอใจด้วยรู้สึกว่าได้รับเกียรติ เมื่อให้เกียรติแก่ผู้อื่น ตนเองก็จะเป็นผู้มีเกียรติด้วย มารยาทที่พบเห็นกันบ่อย ๆ และควรรักษาไว้ในสังคมและปลูกฝังให้ลูกหลานคนไทยต่อไป
มารยาทในการพูด มารยาทในการพูดที่ควรปฏิบัติ มีดังนี้
คำกล่าว “ ขอบคุณ ” จะใช้เมื่อมีผู้อื่นให้สิ่งของ ให้ความช่วยเหลือ ให้บริการ หรือเอื้อเฟื้อทำสิ่งต่าง ๆ ให้ ไม่ว่าจะโดยหน้าที่ของเขา หรือมีน้ำใจหรือไม่ก็ตาม เช่น บริกรเสริฟน้ำให้ คนลุกให้นั่งหรือช่วยถือของให้บนรถประจำทาง คนช่วยหยิบของให้เวลาของหล่นลงพื้น พนักงานรักษาความปลอดภัยช่วยบอกทางในขณะจอดรถ หรือคนช่วยเปิดประตูให้ เป็นต้น การกล่าวคำขอบคุณนั้น ถ้ากล่าวกับผู้ที่อาวุโสกว่า หรือมีวัยเสมอกันจะใช้คำว่า “ขอบคุณ” หรือถ้ากล่าวกับคนอายุน้อยกว่าจะใช้คำว่า “ ขอบใจ ” ส่วนระดับของการขอบคุณนั้นจะใช้คำว่า “ขอบคุณ” “ขอบคุณมาก” “ขอบพระคุณมาก” “ขอบใจ” “ขอบใจมาก” ขึ้นอยู่กับความรู้สึกของผู้พูดต่อสิ่งที่ทำให้หรือได้รับ โดยเฉพาะคำว่า “ขอบพระคุณมาก” จะใช้กับผู้อาวุโส มิใช่แค่คำพูดเท่านั้น น้ำเสียงที่พูด กิริยา ท่าทางที่พูดจะบอกว่า ผู้นั้นพูดออกมาจากความรู้สึกที่อยู่ในใจจริงๆ หรือพูดออกมาตามหน้าที่ หรือตามสถานการณ์ที่บังคับที่ทำให้ต้องพูด ผู้ฟังจะรู้สึกได้ถึงสิ่งที่พูด และยิ่งยกมือไหว้พร้อมกับกล่าวคำขอบคุณกับผู้อาวุโสไปพร้อมกัน จะทำให้ดูอ่อนน้อม และได้รับความเมตตาจากผู้อาวุโสมากยิ่งขึ้น และการพูดขอบคุณแบบขอไปทีกับไม่พูดนั้น ผู้เขียนเห็นว่า การพูดก็ดีกว่าการไม่พูด เพราะแสดงถึงการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ดีกว่าการไม่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน
คำกล่าว “ ขอโทษ ” จะใช้เมื่อทำสิ่งที่ไม่ดี /สิ่งที่ผิด / สิ่งผิดพลาด/ สิ่งที่ไม่เหมาะสม/ การรบกวน/ การขัดจังหวะขณะพูดหรือทำงานเมื่อมีธุระด่วน/ การพูดจาหรือแสดงกิริยาที่ไม่ดีหรือไม่เหมาะสมต่อบุคคลอื่นทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจก็ตาม เป็นต้น การกล่าวคำขอโทษนั้น จะใช้คำว่า “ขอโทษ” เมื่อผู้พูดรู้สึกสำนึกผิดในสิ่งที่ตนได้กระทำ/ พูด/ แสดงออกมา ถ้าพูดออกมาด้วยความรู้สึกผิด จะทำให้คำขอโทษนั้นมีความหมายที่ผู้ฟังหรือคนกระทำรู้สึกดีขึ้นและพร้อมที่จะให้อภัย และถ้าเขาให้อภัยแล้ว
กล่าวคำขอบคุณที่เขาให้อภัยเราด้วย แต่ถ้ากล่าวคำขอโทษออกมาแบบเสียไม่ได้ หรือในท่าทีที่ไม่เหมาะสม คำขอโทษนั้นจะมีน้ำหนักน้อยที่อาจทำให้เขาอาจไม่ให้อภัยหรือให้อภัยตามมารยาทสังคมเท่านั้น แต่ในใจยังรู้สึกติดใจอยู่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบในอนาคตได้ที่อาจมีการเอาคืนในภายหลัง แต่การกล่าวคำว่าขอโทษแบบเสียไม่ได้ก็ยังดีกว่าการไม่ยอมกล่าวคำขอโทษออกมา เพราะย่อมแสดงถึงว่าเราลดตัวตนหรือทิฐิของเราลงมาในระดับหนึ่ง และยอมที่จะเปลี่ยนแปลงในอนาคต ถึงแม้ความรู้สึกสำนึกผิดจะช้าก็ตาม ในการกล่าวคำขอโทษนั้น
ถ้ากล่าวกับผู้อาวุโสควรยกมือไหว้พร้อมกันไปด้วย จะทำให้ผู้อาวุโสที่เราขอโทษเขารู้สึกดี และบอกถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนของผู้นั้นด้วย จะทำให้ดูดีและน่ารักในสายตาผู้อาวุโสและสายตาของผู้ที่ได้พบเห็นหรืออยู่ในสถานการณ์นั้น
คำพูดที่ใช้เมื่อสนทนาหรือกล่าวถึงผู้อื่นในลักษณะให้เกียรติ เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างมาก ดังคำโบราณว่า “พูดดีเป็นศรีแก่ตัว” ก็แสดงว่า การพูดนั้นเป็นคุณแก่ผู้พูด คำพูดที่จะให้คุณ ก็คือ คำพูดดีๆ ที่พูดต่อกัน น้ำเสียงในการพูดให้น่าฟัง อ่อนโยน ใช้ภาษาที่เหมาะสม ถูกกาลเทศะ แสดงความให้เกียรติ รักษาน้ำใจผู้อื่น และ
ไม่ควรพูดประชดประชันหรือซุบซิบนินทาผู้อื่นให้เสียหาย
คำพูดดี ๆนั้นจะหมายรวมถึงการที่ไม่ดูหมิ่นเหยียดหยามผู้อื่น
ไม่ยกตนข่มผู้อื่น หรือแสดงตนว่าอยู่เหนือคนอื่น หรือพูดไม่ถูกกาลเทศะ การพูดเหล่านี้นอกจะไม่ให้คุณแล้ว ยังแสดงถึงความไม่มีมารยาทในการพูด จะทำให้เกิดผลกระทบตามมากับผู้พูด ทำให้ผู้พูดขาดทุน เพราะขาดความน่ารัก ไม่ได้ใจผู้ฟัง และยังก่อให้เกิดความขัดแย้งกันตามมาด้วย
การพูดที่ให้เกียรติผู้อื่นนั้น ไม่ใช่ให้เกียรติเฉพาะผู้อาวุโส/ ผู้ใหญ่เท่านั้น ต้องรวมไปถึงผู้ที่มีศักดิ์และสถานะเท่าเทียมกัน จนถึงผู้ที่มีศักดิ์หรือสถานภาพด้อยกว่าผู้พูดด้วย โดยเฉพาะถ้าผู้พูดเป็นผู้อาวุโสกว่าหรือเป็นผู้บังคับบัญชา ยิ่งต้องพูดดีและให้เกียรติกับผู้ที่ทำงานร่วมกันไม่ว่าเขาอยู่ในสถานภาพไหนก็ตาม จะทำให้ได้ใจผู้ฟัง และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการทำงาน
การทักทาย ในประเพณีไทยจะทักทายกันโดยการไหว้และกล่าวคำว่า “สวัสดี” ส่วนสากลเวลาพบกันจะทักทายกันโดยยื่นมือขวาจับกันและเขย่ามือเล็กน้อย และทักทายด้วยคำสวัสดีเป็นภาษาต่างประเทศและถามสารทุกข์สุกดิบระหว่างกัน
การแนะนำบุคคลให้รู้จักกัน หลักโดยทั่ว ๆไปแล้ว จะแนะนำผู้อาวุโสมากก่อนผู้มีผู้อาวุโสน้อยกว่า หรือแนะนำผู้เป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ หรือมีตำแหน่งระดับสูงกว่าก่อนผู้อื่น ถ้ามีสถานภาพเสมอกันก็ให้แนะนำตามความเหมาะสม อาจแนะนำผู้ที่มาก่อนก็ได้