วันจันทร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2563

5 วิธีเปลี่ยน “วิกฤตวัยทอง (Terrible) 2 ขวบ” เป็น “วัยมหัศจรรย์ (Terrific) 2 ขวบ"

5 วิธีเปลี่ยน “วิกฤตวัยทอง (Terrible) 2 ขวบ” เป็น “วัยมหัศจรรย์ (Terrific) 2 ขวบ"
.
(1) สร้างสายสัมพันธ์กับลูกด้วยการมีเวลาคุณภาพให้เขา ก่อนจะสอนเรื่องใดๆ 
.
หากสายสัมพันธ์ดี เราจะสอนเด็กง่ายขึ้น เพราะเขาจะอยากฟังเรา 
สายสัมพันธ์ที่ดี ต้องกลับไปสู่ “เวลาคุณภาพ” โดยการอ่านหนังสือ เล่นตามวัย และทำงานบ้านด้วยกัน 
.
เวลาคุณภาพ ไม่ใช่เวลาแห่งการตามใจลูก แต่เป็นเวลาแห่งการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน การให้ความสนใจกับลูกอย่างเต็มที่ วางทุกอย่างลง ทั้งมือถือ และภาระงาน มองหน้าลูก รับฟัง และสอนเขาโดยการทำสิ่งนั้นไปพร้อมกับเขา
*หากไม่มีเวลา เวลาที่มีอยู่ ขอให้ใช้เวลานั้นอย่างมีคุณภาพที่สุด เพราะปริมาณสำคัญน้อยกว่าคุณภาพ

*****************************************

(2) ผู้ใหญ่มีหน้าที่ควบคุมกติกาและตารางเวลาให้ชัดเจนตั้งแต่ต้น ไม่ใช่ควบคุมเด็กด้วยการพูด "ห้าม อย่า หยุด” ตลอดเวลา 
.
เด็กวัยนี้ชอบทำอะไรด้วยตนเอง เขาอยากช่วยเราทำงานบ้าน อยากทำนู่นทำนี่ที่ผู้ใหญ่ทำ ถ้าผู้ใหญ่ไม่ให้เขาทำ และให้ทำสิ่งต่างให้เขา เพราะมันสะดวกและง่ายกับเรามากกว่า นั่นเป็นการตัดโอกาสที่จะทำให้เด็กได้เรียนรู้และพัฒนาหลายๆ ด้าน
.
สิ่งที่ควรทำ คือ...
.
“สอนเด็กช่วยเหลือตัวเองและทำงานบ้านตามวัย” เพื่อให้เขาได้ทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองตั้งแต่เล็ก เมื่อเขาเติบโตมา เขาเรียนรู้โดยธรรมชาติว่า สิ่งเหล่านี้คือหน้าที่และส่วนหนึ่งในชีวิตของเขา
***ที่สำคัญเขาจะพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น ไม่ต้องรอเราไปช่วยเขา เขาสามารถทำเองได้ทันใจ ความหงุดหงิดจะลดลง ความภาคภูมิใจในตัวเองจะเกิดในวัยนี้
.
"กำหนดกติกาของครอบครัวให้ชัดเจน" ไม่ต้องเยอะข้อและทุกคนในครอบครัวอยู่ภายใต้กติกาเดียวกัน เช่น “ไม่ทำร้ายผู้อื่น” “ไม่ทำร้ายตนเอง” “ไม่ทำลายข้าวของ” หากทำผิด เราจะให้โอกาสโดยการเตือนเขาสองครั้ง ถ้าเขาทำอีก นั่นคือ เขาต้องออกไปมุมสงบกับเรา และจบด้วยการงดกิจกรรมที่ชอบ หรือ ช่วยงานพ่อแม่
.
“มีตารางเวลาที่ชัดเจน” 
เเม้ว่า เด็กจะพูด “ไม่ทำ” แต่ถ้าเป็นหน้าที่ เขาต้อง “กินข้าว อาบน้ำ แปรงฟัง แต่งตัว ใส่รองเท้า เก็บของเล่น เข้าห้องน้ำ” การมีตารางเวลาที่ชัดเจนว่า เขาต้องทำสิ่งเหล่านี้เวลาไหน เขาจะเรียนรู้ได้เมื่อทำเป็นประจำ ช่วงเเรกอาจจะมีต่อต้านบ้าง แต่หากเราเผื่อเวลา และทำไปกับเขา เด็กจะปรับตัวและเรียนรู้การช่วยเหลือตัวเองได้ดีขึ้น 
***การมีตารางเวลาที่ทำสม่ำเสมอ เด็กจะจดจำและรู้หน้าที่ของตนเองว่า เขาต้องทำอะไร ตอนไหน ตารางเวลาเป็นผู้ควบคุมเขา ไม่ใช่พ่อแม่ และเมื่อเด็กโตขึ้นเขาจะเรียนรู้ที่จะควบคุมตัวเองให้ทำตามตารางเวลา โดยไม่ต้องให้พ่อแม่มาควบคุมเขา
*สามารถอ่านบทความเรื่อง “ตารางเวลา” ได้ภายใจเพจ
.
“กำหนดให้ชัดเจนว่าอะไรได้/อะไรไม่ได้” 
ทางที่ดีที่สุด สำหรับเด็กวัย 2  ปี หากเราไม่อยากห้ามเขาเยอะ ให้พาเขาไปในที่ๆ เหมาะสมกับวัยของเขา เช่น สนามเด็กเล่น สวน หรือ จะจัดบ้านให้เหมาะกับการเล่น ที่สำคัญไม่ควรมอบสิ่งที่เรียกว่า “หน้าจอ” ให้กับเขาในวัยนี้ เพราะเด็กมีแนวโน้มจะติดง่ายมาก และปัญหาระยะยาวจะตามมาหลังจากนี้

*****************************************

(3) ให้เด็กได้เล่นอย่างเพียงพอ 
.
อย่าคาดหวังให้เด็กวัยนี้นั่งรอเรียบร้อยดั่งผ้าที่พับไว้ เพราะสิ่งธรรมชาติของเขาคือนักวิ่งร้อยเมตรที่วิ่งได้ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ถ้าเหนื่อย (แบตหมด) คือ จอดแบบไม่ส่งสัญญาณใดๆ 
.
พัฒนาการทางด้านร่างกายของเด็กวัย 2 ปี คือ ร่างกายในส่วนของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ของเขาทำงานอย่างเต็มที่ ดังนั้นเด็กอยากทดสอบกำลังแขน ขา ของเขาในการทำสิ่งต่างๆ และสิ่งที่เด็กวัย 2 ขวบทำได้ คือ วิ่ง ปีน คว้า โยน ขว้าง ฉีก ขยำ เตะ ปัด ตี และอื่นๆ 
.
เด็กวัยนี้ควรเล่นโดยการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างน้อยวันละ 2-3 ชั่วโมง (เยอะมากจนน่าตกใจ) การเล่นที่ไม่เพียงพอจะส่งผลให้เด็กหงุดหงิด และอึดอัด เขาจะแสวงหาที่ระบายแรงด้วยตัวเขาเอง ซึ่งบ่อยครั้งการระบายมักออกมาในรูปแบบของพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม กระทืบเท้า ทำลายข้าวของ และโมโหง่าย
.
สิ่งที่ควรทำ คือ...
.
“ปล่อยเด็กคืนสู่ธรรมชาติ” หาที่โล่งให้เขาได้วิ่งเล่น กระโดด ปีนป่าย กลิ้ง มุด อย่างเต็มที่ ถ้าที่บ้านไม่มี ให้เขาได้ไปว่ายน้ำ (ถ้าไม่ไปสระ จะเติมน้ำใส่กะลังให้ลูกเล่นในห้องน้ำก็ได้เช่นกัน) หรือ เล่นทรายที่สนามเด็กเล่น (ถ้าไม่มีสนามใกล้เคียง เราจะซื้อทรายมากองไว้หน้าบ้าน ก็ได้เช่นกัน)
.
“เล่นทำงานบ้าน” ชวนลูกทำงานบ้านที่ใช้เเรง เช่น ถูพื้น ใช้ผ้าผืนเดียวและถูโดยไม่ต้องมีไม้ถู หรือ จะรดน้ำต้นไม้ก็ได้เช่นกัน
.
“เปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมให้เป็นพฤติกรรมที่เหมาะสมด้วยกิจกรรมดีๆ” เด็กวัยนี้ชอบโยน ขว้าง เราให้เขามาโยนบอล โยนผ้าลงตะกร้า เขาได้ทำในสิ่งที่อยากทำ และเราไม่ต้องห้ามเขาด้วย หรือ เด็กชอบเล่นเลอะเทอะ ให้เขาได้เล่นดิน เล่นทราย เล่นน้ำ เล่นสีนอกบ้าน หรือ จะปูผ้ายางให้เขาได้ละเลงให้เต็มที่ เมื่อเด็กได้ทำเต็มที่ เขาจะไม่ทำพฤติกรรมนั้นในที่ๆ ไม่เหมาะสมเอง

*****************************************

(4) ผู้ใหญ่มีหน้าที่ช้าลงและเผื่อเวลาให้กับเด็ก
.
เขามีแนวโน้มจะตอบสนองสิ่งต่างๆ ด้วยร่างกาย ก่อนการสื่อสารด้วยคำพูด เพราะภาษาของเขายังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้หากต้องพูดออกมา อาจจะช้าและไม่ทันใจเขา จึงพบว่า เด็ก 2 ขวบ เวลาเขาอยากได้อะไร เขาจะหยิบจากมือเราทันที หรือ วิ่งปรู๊ดเข้าไปหาสิ่งนั้นทันที ผู้ใหญ่ต้องไม่กระพริบตา หรือ ปล่อยเด็กวัยนี้ไว้ลำพัง
.
การที่เด็กใจร้อน ไม่ได้แปลว่า ผู้ใหญ่ต้องตอบสนองเขาทันทีทันใด เราต้องช้าลง ให้เขารอบ้าง ไม่เป็นไร แต่ต้องไม่รอนานเกินความสามารถของเด็กวัยนี้ นั่นคือ รอเกิน 7-10 นาที
.
เด็กอยากช่วยเหลือตัวเอง แต่เขาเพิ่งเริ่มหัดทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง เขาจึงทำได้ช้า และอาจจะทำไม่ได้สมบูรณ์แบบ ผู้ใหญ่มีหน้าที่เผื่อเวลาให้เขา สักประมาณ 3-5 นาที หากเด็กทำไม่ได้ หรือ ขอความช่วยเหลือ เราค่อยเข้าไปจับมือเขาทำ 
.
สำคัญที่สุด “อย่าประเมินเด็กที่ผลลัพธ์ที่เขาทำออกมา” ให้ชื่นชมที่ “ความพยายามและความตั้งใจที่จะทำมันด้วยตนเอง” หรือ “ความกล้าหาญที่เขากล้าที่จะเริ่มทำด้วยตนเอง”
.
สำหรับด้านภาษา เด็กวัย 2 ปี กำลังเรียนรู้คลังคำศัพท์ใหม่ๆ หากอยากให้เขารู้จักคำศัพท์ใหม่ๆ และเรียนรู้การสื่อสารอย่างเหมาะสม “ผู้ใหญ่ต้องไม่รู้ใจเด็ก” เพราะเราจะทำให้เขา ก่อนที่เด็กจะได้สื่อสารออกมาเสียด้วยซ้ำ
.
***สอนคำใหม่ให้เด็ก ก่อนยื่นของให้เขา ให้ผู้ใหญ่พูดชื่อของสิ่งของนั้นชัดๆ 3 ครั้ง 
ครั้งแรกที่พูดชื่อ เด็กจะได้ยินชื่อนั้น (รับรู้)
ครั้งที่สองที่พูดชื่อ เด็กจะได้มองปากเรา (เรียนรู้การออกเสียง)
ครั้งที่สามที่พูดชื่อ เด็กจะได้เชื่อมโยงคำนั้นกับของชิ้นนั้น (เข้าใจความหมายของคำ)

*****************************************

(5) รับมือกับการอาละวาดด้วยความสงบและมั่นคง
.
เนื่องจากภาษายังไม่พัฒนาเต็มที่ สมองส่วนของเหตุและผลจึงยังพัฒนาไม่สมบูรณ์เช่นกัน เด็กวัยนี้ใช้สมองส่วนอารมณ์และสัญชาตญาณในการตอบสนองเป็นหลัก จึงไม่น่าแปลกใจที่ “การอาละวาด (Tantrum)” เป็นของคู่กันของเด็กวัยนี้
.
ดังนั้นเวลาไม่พอใจ เขาจะแสดงออกชัดเจน ด้วยการร้องไห้ กรี๊ด หรือ ใช้ร่างกายที่แข็งแรงของเขาต้านเราเต็มเเรง ผู้ใหญ่ไม่จำเป็นต้องสู้ หรือ พูดอะไรมากมาย ณ ตอนที่เด็กอาละวาด 
.
สิ่งที่ควรทำ คือ...
.
ขั้นที่ 1 เข้าไปถึงตัวเด็กเวลาต้องการห้ามเขาทำอะไร ย่อตัวลง ให้ตาสบตา ใช้มือจับมือเขาแล้วบอกสั้นๆ ว่า “ไม่ทำ....”
.
ขั้นที่ 2 ถ้าเด็กไม่หยุดทำและเริ่มอาละวาด ให้พาเขาไปหาที่สงบและปลอดภัย บอกเด็กสั้นๆ ว่า “ถ้าหนูสงบ/พร้อม แม่จะอยู่ตรงนี้พร้อมคุยกับหนู” ระหว่างที่เด็กร้องไห้ อาละวาด หากเขายอมให้เรากอด เราสามารถกอดเขาได้ แต่ถ้าเด็กดิ้น อาละวาด เรานั่งลงข้างๆ ในระดับเดียวกับเขา ดูแลไม่ให้เขาหัวโขก 
.
ขั้นที่ 3 ผู้ใหญ่รอ และรออย่างอดทน จนกว่าเขาจะสงบ ขั้นตอนนี้อาจจะยาวนานมาก หากเพิ่งเคยเกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อเด็กเริ่มสงบ ให้ถามเขาว่า “พร้อมยัง ถ้าหนูพร้อมแล้ว แม่อยากให้หนูนับ 1-10 พร้อมแม่ แม่จะได้รู้ว่า หนูพร้อมแล้ว” เด็กที่นับเลขไม่เป็น ไม่เป็นไร เพราะเราสามารถบอกให้เขาพูดตามเราได้ ผู้ใหญ่ต้องเป็นคนกำหนดจังหวะการนับ ไม่ใช่ให้เด็กควบคุมการนับ นับช้าๆ ชัดๆ เป็นจังหวะที่สม่ำเสมอ เป็นการสอนให้เด็กเรียนรู้การจัดการอารมณ์ไปในตัว “1, 2, 3,...,10” 
.
ขั้นที่ 4 เมื่อเด็กสามารถนับ 1-10 พร้อมเราได้ โดยไม่สะอึกสะอื้นขึ้นมาอีก เราบอกเขาได้ว่า “หนูพร้อมฟังแม่แล้วนะ” จากนั้นให้สอนเขาว่า “เมื่อกี้ที่หนูทำ....หนูไม่ควรทำ....และสิ่งที่หนูควรทำ คือ .....” เท่านี้ 
.
ขั้นที่ 5 สอนเสร็จ ถ้าเด็กทำไม่เหมาะสม สอนเขาพูด “ขอโทษ” กับคนที่เขาทำไม่ดีด้วย ถ้าเด็กไม่ยอมทำ เราพูดไปพร้อมเขาและจับมือเขาทำได้ “ขอโทษค่ะ/ครับ ที่หนูทำ...” เช่น ถ้าเขาตีแม่ ให้คุณแม่จับมือน้อง แล้วพูดว่า “ขอโทษค่ะ ที่หนูตีคุณแม่” เด็กจะได้รับรู้ว่า เขาขอโทษเรื่องอะไร ไม่ใช่ใช้การพูดขอโทษเพื่อให้หลุดออกมาจากสถานการณ์เท่านั้น
.
ขั้นที่ 6 สุดท้าย ควรจบด้วยการกอดและความเข้าใจ ทุกครั้งที่ลูกอาละวาด เป็นโอกาสดีเสมอที่เด็กจะได้เรียนรู้ว่า พ่อแม่รักเขา และยอมรับเขาไม่ว่าเขาจะเป็นเด็กไม่น่ารักในวันนี้ สายสัมพันธ์จะแน่นแฟ้นทุกครั้ง ถ้าจบเช่นนี้
.
***ผู้ใหญ่ต้องไม่กลัว เมื่อเด็กอาละวาด เพราะเด็กรับรู้ได้ในสีหน้าท่าทางความไม่มั่นใจของเรา ดังนั้น ให้ยอมรับว่า การอาละวาดเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้เพื่อเติบโตของเด็กวัยนี้ เราไม่ต้องตกใจ รับมือด้วยความสงบ อะไรได้ไม่ได้ เรามั่นคงตามนั้น เชื่อว่า “ผู้ใหญ่รอเด็กสงบได้ เพราะเรามีความอดทนมากกว่าเด็ก จริงไหม?”

*****************************************

สุดท้าย เด็กทุกคนต้องเติบโตเข้าสู่วัย 2 ปี และเติบโตจนผ่านพ้นวัยนี้ไป หากเราใช้ช่วงเวลานี้เรียนรู้ลูกและรับมือกับเขาอย่างรู้เท่าทัน จากวิกฤตวัยทอง 2 ปี จะเปลี่ยนเป็น โอกาสทองของเด็ก 2 ปี ที่เขาจะได้เรียนรู้สิ่งดีๆ และเติบโตอย่างมีความสุข
.
สุขภาพกายใจที่แข็งแรง สำคัญที่สุดสำหรับคุณพ่อคุณแม่
หากไม่ไหว อย่าลืมพักผ่อน และขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ
ขอเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่เข้มเเข็งและอดทนนะคะ
.
ด้วยรักจากใจ
เม
เพจ:ตามใจนักจิตวิทยา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น