#อย่าเกรงใจคนอื่นจนลืมหัวใจลูก
เพื่อนของหนูเอาของขวัญวันเด็กมาให้ แต่บอกว่าให้คนน้องก่อน เสร็จแล้วแกล้งพูดว่าของคนพี่ไม่มี ลูกสาวก็เลยมีอาการร้องไห้โวยวาย หนูพยายามอธิบายให้ฟังแล้วว่า เพื่อนหนูล้อเล่น แต่ลูกไม่ฟัง กลับมีอารมณ์แรงขึ้นเรื่อยๆ จนตีตัวเองร้องโวยวาย แล้วก็กรีดร้อง
หนูไม่รู้จะทำยังไงเลยค่ะคุณหมอ หนูพยายามทำให้สถานการณ์มันดีขึ้นนะคะ คุณหมอ แต่ตอนนั้นก็ยอมรับว่ามีอารมณ์ เพราะไม่สามารถคอนโทรลลูกได้ หนูอยากเป็นแม่ที่ดีค่ะ
......................................
หมอเห็น “แม่ที่มีความพยายาม” ซึ่งก็เป็นคุณสมบัติของแม่ที่ดีนะคะ😊
เราเรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้บ้าง
1.ใครที่จะซื้อของให้เด็กหลายๆคน ควรเรียนรู้วิธีพูดที่จะทำให้เด็กมีความสุขเท่าๆกัน
หยุดใช้คำพูดแหย่เด็ก เช่น “พี่ไม่ได้ของหรอก” หรือ “พี่ไม่เก่ง..ก็เลยได้ชิ้นเล็กกว่าน้อง” หรือ “วันนี้งอแง ไม่ให้ดีกว่า” หรือ “ถ้าอยากได้ ทำท่าตลกๆให้ดูซิ”
อย่าเล่นกับอารมณ์ความรู้สึกของเด็กเลย เพราะเด็กมีหัวใจและความรู้สึก คุณได้เห็นผลกระทบจากเด็กผู้หญิงคนนี้แล้ว เด็กโกรธและเสียใจ เด็กรู้สึกไม่เป็นที่รักเท่ากับน้อง เราไม่รู้หรอกว่า เด็กแต่ละคนมีแผลอะไรอยู่บ้าง..
ถึงแม้ว่าคุณจะมีของมาให้ แต่ไม่ได้แปลว่า คุณได้สิทธิในการแกล้งหรือแหย่เด็กคนนั้นนะคะ...
การคิดถึงเด็กและซื้อของให้ แปลว่าคุณมีจิตใจดี คุณควรพูดเชิงบวกเพื่อสื่อสิ่งดีๆออกมา เด็กจะได้มองว่าคุณใจดีด้วย เช่น “น้าซื้อของมาฝาก เพราะรู้ว่าหนูชอบตุ๊กตา” หรือ “วันนี้วันเด็ก น้าอยากให้หนูทั้งสองคนมีความสุข” หรือ “น้าขออวยพรให้หนูเป็นเด็กดีทั้งสองคนนะ”
เลือกวิธีแสดงออกให้ตรงกับจิตใจที่ดีของคุณเถอะ ทั้งดีต่อเด็ก ดีต่อพ่อแม่เขาและยังดีต่อตัวคุณด้วย 🥰
.
.
2. คุณแม่ท่านนี้พยายามควบคุมเด็ก ไม่ให้ร้องไห้โวยวาย
หมออยากให้ยอมรับความจริงข้อหนึ่งว่า เราไม่สามารถควบคุมอารมณ์ใครได้ค่ะ... ถึงแม้เขาเป็นลูก เราก็ควบคุมอารมณ์ลูกไม่ได้เหมือนกัน อารมณ์เป็นสิ่งที่คนๆนั้นต้องจัดการเอง พ่อแม่มีหน้าที่ “ควบคุมสถานการณ์” ไม่ใช่ควบคุมลูก
การควบคุมสถานการณ์ คือการไม่ทำให้สถานการณ์แย่ไปกว่านี้...
🔹อย่างแรก พ่อแม่ต้องสงบนิ่งเป็นต้นแบบ
การสงบนิ่ง ช่วยให้เราตั้งสติง่ายขึ้น
การไม่หวั่นไหว ทำให้ลูกมีหลักยึด
🔹อันดับต่อมา อย่าพยายามอธิบายหรือพูดเยอะแยะในช่วงที่ลูกปิดสวิทการสื่อสาร
ฟังอีกครั้ง อย่าพูด ถ้าลูกไม่ฟัง.. จำที่ท่องได้มั้ยคะ เราพูดเพื่อหวังให้ลูกสงบไม่ได้ หน้าที่จัดการอารมณ์คือหน้าที่ลูก
🔹ต่อมา ให้เวลาทำงาน
ช่วงนี้เราก็ต้องรอๆ ๆ ๆ ๆ ๆ จะรอใกล้ๆหรืออยู่ห่างออกไปก็ได้
🔹 ถ้าลูกทำร้ายตนเอง ให้จับมือและบอกลูกว่า ทำร้ายตัวเองไม่ได้ พูดด้วยความหนักแน่นจริงจังแต่ไม่โกรธ แล้วก็รอต่อ....
🔹สุดท้ายลูกจะสงบลง เมื่อลูกสงบก็พูดกับลูกค่ะ
คุณแม่อธิบายให้ลูกเข้าใจเหตุการณ์ และบอกด้วยว่าเราเข้าใจลูกยังไง
“เพื่อนแม่ล้อเล่น จริงๆเขาซื้อไว้แล้วทั้งสองชิ้น เขาแกล้งหลอกว่าไม่มีค่ะลูก...แม่รู้ว่าลูกเสียใจ กลัวว่าจะไม่ได้ของ และโกรธที่ต้องโดนแหย่แบบนี้ แม่เข้าใจนะคะ ไม่มีใครชอบโดนแหย่แบบนี้หรอก... ครั้งหน้า แม่จะบอกเพื่อน ไม่พูดแบบนี้อีก”
แล้วอย่าลืมบอกเพื่อนเราด้วย 😉
.
.
3. ในประโยคสุดท้ายของท่านนี้ “ยอมรับว่ามีอารมณ์ เพราะไม่สามารถคอนโทรลลูกได้ หนูอยากเป็นแม่ที่ดีค่ะ”
หมออยากบอกว่า “แม่ที่ดี ไม่ใช่แม่ที่คอนโทลลูกได้ค่ะ ดังนั้นอย่าไปมีอารมณ์โกรธ ถ้าเราควบคมลูกไม่ได้
แม่ที่ดีคือแม่ที่พยายามพัฒนาตนเอง เรียนรู้จากความผิดพลาด เหมือนอย่างที่เราพยายามหาคำตอบให้กับเรื่องนี้ ก็เพราะอยากปรับปรุงตนเอง.. สำหรับหมอ แบบนี้คือแม่ที่ดีแล้ว 🥰
.
.
หมอฝากข้อคิดสำหรับแม่ขี้เกรงใจ อย่าเกรงใจเพื่อนมากเกินไป เห็นเขาเอาของมาให้ กลัวบรรยากาศจะเสีย จึงพยายามให้ลูกเงียบ..
ลูกร้องไห้แล้วเงียบไม่ได้ ไม่ใช่เพราะเราเป็นแม่ไม่ดี และไม่ใช่ความผิดเรา อันที่จริง ลูกจะไม่ร้องไห้เลย ถ้าเขาไม่แหย่ลูก...
อย่าเกรงใจคนซื้อของให้ลูกมากเกินไป ท่องไว้นะคะ ถึงแม้เขามีของมาให้ แต่ไม่ได้แปลว่า เขาได้สิทธิในการแกล้งหรือแหย่ลูกเรา 💪...
#อย่าเกรงใจคนอื่นจนลืมหัวใจลูก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น