‘การเล่น’ คืองานที่เด็กทุกคนต้องได้ทำอย่างสุดความสามารถ
เรื่องและภาพ: สุมณฑา ปลื้มสูงเนิน
พอได้ยินคำว่า ‘สนามเด็กเล่น’ สิ่งที่ลอยเข้ามาในหัวหนีไม่พ้นไม้กระดก กระดานลื่น ชิงช้า ของเล่นปีนๆ โหนๆ ที่ทำจากวัสดุเป็นเหล็กบ้าง สังกะสีบ้าง และก็มักทาสีเขียว เหลือง แดง เหมือนที่เห็นทั่วไปในโรงเรียน สวนสาธารณะ หรือตามสถานที่ราชการต่างๆ ซึ่งก็ไม่ผิดนักเพราะนี่คือสิ่งที่เราเห็นอยู่ทั่วไปในบ้านเรา แต่ไม่ใช่กับที่นี่ เทศกาล November Play: เทศกาลลานเล่นอิสระ ณ สวนไฟฝัน จัดโดย กลุ่มไม้ขีดไฟ เทศกาลที่แปลงร่างพื้นที่ในสวนให้กลายเป็นพื้นที่เล่นอิสระ (free play) สำหรับเด็ก เปิดให้เล่นกันยาวๆ ตลอดทั้งเดือนตั้งแต่ 8-30 พฤศจิกายน 2562 หลังจากแอบดูเด็กเล่นมาทั้งเดือน จึงอยากเก็บมาเล่าสู่กันฟังบ้างว่า ‘ทำไมเรื่องเล่นถึงถูกให้ความสำคัญขนาดนั้น’
ที่บอกว่าสนามเด็กเล่นที่เคยเห็นที่อื่น ไม่ใช่กับสนามเด็กเล่นที่ลานเล่นอิสระ ก็เพราะว่า ‘สนามเด็กเล่น’ ในความหมายของที่นี่คือการเล่นอย่างอิสระ (free play) ที่นี่เราจะไม่เห็นวัสดุที่เป็นเหล็ก สังกะสี ไม่เห็นของเล่นสีสันฉูดฉาด แต่เรากลับเห็นสนามสีเขียวที่มีของเล่นทำจากไม้ ทราย น้ำ หรือเศษวัสดุเหลือใช้แทน ของเล่นทุกชิ้นเป็นสีธรรมชาติ ไม่มีการย้อมด้วยสีเคมีใดๆ
จากสนามหญ้าโล่งๆ สู่พื้นที่เล่นอย่างสร้างสรรค์ และปลอดภัย
เพราะประสบการณ์ในการสัมผัสธรรมชาติส่งผลให้เด็กมีจินตนาการอย่างอิสระ ส่งผลต่อการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่หลากหลายได้ง่าย สีและการสัมผัสธรรมชาติเป็นสัมผัสที่นุ่มนวลและจริง เด็กสัมผัสทรายจริง ไม้จริง สีไม้จริงๆ ไม่ใช้ไม้ที่ย้อมสี นั่นคือสัมผัสที่มีอยู่จริงในธรรมชาติ ส่งผลให้เด็กมีความเข้าใจธรรมชาติ
นอกจากนี้ ของเล่นทุกอย่างที่มีก็ตอบโจทย์พัฒนาการตามวัยของเด็ก (โดยเฉพาะการฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กใหญ่) ของเล่นที่เห็นจึงต้องสัมผัสได้ ขยำได้ มุดได้ ปีนป่ายได้ ให้เสียงได้ สร้างจินตนาการต่อได้ เราจึงไม่เห็นของเล่นสำเร็จรูปประเภท ตุ๊กตาพลาสติก รถถัง หรือหุ่นยนต์ที่นี่ เพราะของเล่นที่เหมือนจริงจนเกินไป ได้บั่นทอนจินตนาการของเด็กไปจนแทบจะหมดสิ้นแล้ว
Play Worker: เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลให้เล่นอย่างปลอดภัย แต่ไม่ต้องป้องกันจนหมดความท้าทาย
นอกจากโครงสร้างของเล่นเหล่านี้ต้องคำนึงถึงในการออกแบบแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างคือความ ปลอดภัยในการเล่น ที่ต้องคำนึงถึงตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นวัสดุที่ใช้ รูปแบบของของเล่น เหลี่ยมมุม การติดตั้ง จุดที่วางของเล่นแต่ละชนิด เป็นต้น ทุกอย่างต้องคิดให้จบตั้งแต่ขั้นตอนแรก
แม้แต่ของเล่นบางชนิดที่ดูเสี่ยง แต่ถ้าถูกคิดและออกแบบอย่างดี ความเสี่ยงนั้นจะกลายเป็นความท้าทายของเด็กในที่สุด นอกจากนี้เมื่อเด็กๆ มาเล่นจริงก็ต้องมีผู้ใหญ่ที่เป็น ‘ผู้ดูแลการเล่น’ หรือที่เรียกว่า play worker คอยดูแลอยู่ในสนาม play worker ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้คุ้มกฎแต่อย่างใด บทบาทหลักของ play worker คือ การดูเด็กเล่น เล่นบางอย่างให้เด็กดู และเล่นกับเด็กในบางครั้ง
อาจจะมีบ้างที่ต้องประกบหากการเล่นนั้นจะเลยเถิดไปจนถึงขั้นที่เรียกว่าอาจเกิดอันตรายได้ กระนั้น ที่นี่จะไม่มีผู้ใหญ่ที่คอยยืนตะโกนบอกเด็กว่า “เล่นเบาๆ สิลูก” “ลงมาอย่าขึ้นไป” “ไปเล่นทางโน้น อย่ามาเล่นทางนี้” บลา บลา บลา เพราะหากพื้นที่เล่นนั้นถูกออกแบบมาอย่างดีแล้ว การเล่นของเด็กจะลื่นไหลโดยที่ผู้ใหญ่แทบจะไม่ต้องทำอะไรเลย
การที่ play worker เล่นบางอย่างให้เด็กดู เด็กจะเกิดการเลียนแบบ เริ่มเล่นตามเรา และพลิกแพลงเองได้เมื่อไม่ถูกห้ามให้เล่นตามกติกา ผู้ใหญ่จึงเป็นแค่ผู้ดูแลการเล่นจริงๆ ไม่ใช่ทำหน้าที่ปกป้องจนเด็กหมดสนุก เพราะบางครั้งการปกป้องมากเกินไปก็บั่นทอนความท้าทายเด็กเช่นกัน
แอบดูเด็กๆ เล่นกันอย่างไรในพื้นที่เล่นแบบนี้
สำหรับเด็กปฐมวัยจะใช้เวลาเล่นประมาณชั่วโมงครึ่ง ถึง สองชั่วโมง ในช่วง 20 นาทีแรกเราจะเห็นเด็กๆ วิ่งเข้าหาของเล่นด้วยความตื่นเต้น ลองเล่น ลองจับ ลองปีนป่ายของเล่นเกือบทุกชิ้น ชวนกันมาเล่น มีต่อคิวบ้าง แซงคิวบ้าง แต่จะยังไม่เล่นชิ้นใดชิ้นหนึ่งจริงจังนัก
หลังจากที่สำรวจจนครบหรือจนสาแก่ใจแล้ว คราวนี้เราจะเริ่มเห็นเขาเล่นของเล่นชิ้นที่ตัวเองชอบ ที่ตัวเองสนใจ รู้ได้อย่างไรว่าเขาสนใจ? เราจะเห็นว่าเขาเริ่มใช้เวลาอยู่กับของชิ้นนั้นนานขึ้น ทำซ้ำๆ พยายามแล้วพยามยามอีกโดยไม่สนใจว่าเพื่อนจะเล่นอะไร แต่ตัวเองจะสนใจสิ่งที่อยู่ตรงหน้ามากกว่า มีบ้างที่ชักชวนเพื่อนมาเล่นด้วยกันแต่ไม่แห่ตามกันไปเหมือนช่วงแรก จังหวะนี้เราเริ่มเห็นเด็กบางคนกำลังท้าทายตัวเอง เช่น ที่เคยกล้าๆ กลัวๆ ของเล่นกลุ่มปีนป่าย แต่พอถูกเสริมแรงจาก play worker ว่า “ลองทำดู” “หนูทำได้นี่” เด็กก็มักจะกลับมาเล่นซ้ำ และได้พยายามแล้ว พยายามอีกเพื่อเอาชนะความกลัวของตัวเองให้ได้ หรือบางคนก็จะมีสมาธิกับของเล่นบางอย่างนานๆ โดยไม่สนใจคนอื่น
มาถึงช่วงสุดท้ายเมื่อเขาได้เล่นอย่างอิสระโดยไม่มีใครกำกับการเล่นของเขา เด็กจำนวนหนึ่งจะเริ่มพลิกแพลงการเล่นให้เป็นแบบของตัวเอง ช่วงนี้เราจะเห็นเด็กๆ มิกซ์ของเล่นสองอย่างที่อยู่ใกล้ๆ เข้าด้วยกันบ้าง เปลี่ยนรูปแบบการเล่นเดิมที่เคยเล่นบ้าง โอ้อวดเพื่อนหรือครูว่าสามารถสร้างสิ่งใหม่ได้บ้าง ช่วงนี้แหละเป็นช่วงสำคัญที่สมองได้พัฒนาจากการเล่นอย่างเต็มที่
ลองคิดดูว่าถ้าตั้งแต่นาทีแรกที่มาถึง เด็กๆ ถูกกำกับ ถูกดุ ถูกจัดการการเล่นเพียงเพราะผู้ใหญ่กลัวอันตราย กลัวเลอะ กลัวทะเลาะกัน จะมีนาทีนี้ไหม นาทีที่สมองได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่จากการเล่น
แอบส่อง ของเล่นแต่ละชนิด พาเด็กๆ ไปเจออะไรในตัวเอง
- ปีนๆ ป่ายๆ ได้อะไร
สำหรับเด็กเล็ก ทั้งเชือกถักและหน้าผาไม้เป็นของเล่นที่น่าแอบมองเป็นอย่างยิ่ง ยิ่งแอบมอง ยิ่งเห็นเลยว่าเด็กๆ กำลังท้าทายตัวเอง สะสมความมั่นใจ ความภาคภูมิใจ จนเข้าไปอยู่ในเนื้อในตัวอย่างเป็นธรรมชาติ เพราะสิ่งที่เราเห็นคือเด็กมักจะกล้าๆ กลัวๆ ที่จะปีน เก้ๆ กังๆ ใจนึงก็อยาก ใจนึงก็กลัว จังหวะนี้เป็นโอกาสทองที่พ่อแม่ ครู หรือ play worker แค่พูดประโยคเหล่านี้ “ลองดูไหมลูก” “เชื่อนะว่าหนูทำได้” “แม่/ครู/พี่ ยืนอยู่ใกล้ๆ ไม่ต้องกลัว” “ค่อยๆ ก้าว ใจเย็นๆ ทำได้อยู่แล้ว” เท่านั้นแหละ รับรองได้ว่าเด็กจะเริ่มต้นทำในสิ่งที่อาจจะเคยกลัวหรือไม่เคยทำเลยทั้งชีวิต
แรกๆ ก็จะขึ้นไปนิดเดียวก่อนแล้วก็ลงมา คำพูดของผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ดูแลการเล่นก็จะมีความสำคัญอีกครั้ง “ลองขึ้นสูงอีกนิดไหมลูก” “สูงกว่านี้หนูก็น่าจะทำได้นะ” “แม่เชื่อมั่นว่าหนูทำได้” “ลองดูอีกรอบ” จังหวะนี้คือการให้เด็กได้ท้าทายตัวเอง เพิ่มเป้าหมายให้สูงขึ้นจนสำเร็จได้ในที่สุด และเมื่อทำสำเร็จ ทำได้ แน่นอนที่สุด สำหรับเด็กแล้ว คำชมจากผู้ใหญ่ พ่อแม่ หรือครู เป็นสิ่งที่เขาต้องการมากที่สุด
เพราะนั่นกำลังย้ำว่าความสำเร็จที่เขาท้าทายตัวเองจนผ่านมันไปได้นั้นมีคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง
สำคัญไปกว่านั้นคือ คุณค่าและความภูมิใจนั้นมันจะอยู่ในเนื้อในตัวของเขา การสะสมความภาคภูมิใจไปเรื่อยๆ นั่นคือการสะสม self-esteem ลงในใจเด็กไปเรียบร้อยแล้ว
ยังไม่นับประโยชน์ที่จะได้รับทางกายคือ การพัฒนากล้ามเนื้อมือแขนขาให้แข็งแรง อันนี้เกิดขึ้นแน่ๆ เมื่อเด็กได้ปีนป่าย เด็กที่ปีนป่ายเก่งมักจะเขียนหนังสือดี ลองพิสูจน์ดูสิ
กับเด็กโตก็ไม่ต่างกัน มีกิจกรรมปีนต้นไม้ ที่เป็นการปีนที่มีอุปกรณ์ มีผู้เชี่ยวชาญดูแล และมีความท้าทายที่มากขึ้น สิ่งที่เห็นเด็กโตก็ได้สะสมทักษะชีวิตผ่านกิจกรรมนี้เช่นกัน
เริ่มจากก่อนการตัดสินใจใส่ชุดปีน เด็กๆ หลายคนต้องท้าทายตัวเอง ก้าวผ่านความกลัวให้ได้ก่อนแล้วค่อยๆ เดินไปสวมชุด เมื่อชุดติดอยู่กับเอวแล้วก็ต้องบอกตัวเอง ให้ลุย step ต่อไป ขั้นตอนนี้คือชีวิตเลยแหละ เราต้องผ่านมันให้ได้ เพราะทันทีที่เราก้าวออกจาก safe zone ก็เท่ากับเปิด learning zone ของตัวเองให้กว้างขึ้น
เมื่อก้าวผ่านความกลัวได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปก็กำหนดเป้าหมาย “ปีนขึ้นไปสองคืบพอ” “1 เมตรนะ” “ไปสูงสุดเลย” “ขึ้นไปกอดต้นไม้ให้ได้” เป้าของแต่ละคนไม่เท่ากัน แต่ที่เหมือนกันคือเด็กทุกคนพยายามไปให้ถึงเป้าหมาย และอีกหลายคนเมื่อถึงเป้าที่ตั้งไว้แล้ว ค่อยๆ เพิ่มเป้าหมายขึ้นไปอีกทีละหน่อย เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายสูงสุด
ขั้นตอนนี้บอกอะไร บอกว่าการพยายามก้าวผ่านทุกอย่างเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้เป็นทักษะที่เด็กๆ ต้องมี เมื่อไปจนสุดทางแล้วก็ challenge ตัวเองให้ไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นต่อไป มันเป็นทักษะสำคัญที่บอกหรือสอนไม่ได้ ต้องเผชิญเอง ต้องเจอเองจากการเล่นนี่แหละ
สุดท้ายเมื่อภารกิจทุกอย่างสำเร็จ สิ่งที่ติดตัวเด็ก คืออะไร? คือ การเรียนรู้ว่าไม่มีอะไรน่ากลัว ไม่มีอะไรยากเกินศักยภาพของเรา เรียนรู้ว่าเมื่อเราก้าวออกจาก safe zone ได้ learning zone มันหอมหวานขนาดไหน เรียนรู้ว่า โลกแห่งการเรียนรู้มันกว้างใหญ่ยิ่งนัก
- ท่อ และข้อต่อ ของเล่นง่ายๆ แต่ประสิทธิภาพสูงส่ง
เราแอบมองเด็กน้อยอายุประมาณ 4-5 ขวบคนนึงอยู่ห่างๆ เขากำลังง่วนกับท่อและข้อต่อนี้อยู่นานราว 20 นาที เล่นอยู่คนเดียว ไม่สนใจของเล่นอื่นๆ ที่เพื่อนๆ กำลังเล่นอยู่ เขาจับมาต่อ จับมาตั้ง ต่อแล้วถอดออก ถอดแล้วต่อใหม่ บางจังหวะถอยออกไปยืนเล็งแล้วกลับมาต่อใหม่
เราไม่รู้ว่าเขากำลังคิดอะไรและต้องการต่อเป็นอะไรเพราะนั่นไม่ใช่สาระสำคัญของการเล่นอิสระ ในขณะที่เด็กใช้เวลาอยู่กับของเล่นชิ้นนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอนคือ เด็กมีจินตนาการ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางสติปัญญาแบบที่ผู้ใหญ่ต้องการโดยไม่ต้องท่อง ก ข ค ก็ได้ เสริมสร้างสมาธิ ซึ่งผู้ใหญ่ทุกคนรู้ดีว่าเป็นสิ่งที่ควรส่งเสริมให้เด็กมี เพราะจะส่งผลต่อการเรียนและการงานของเด็กในอนาคต ได้ฝึกทักษะการแก้ปัญหาและการเรียนรู้ ของเล่นแบบนี้เหมือนการทำงานของเด็ก พวกเขาต้องฝึกวางแผน ตั้งเป้าหมาย และทำให้สำเร็จ หากไม่เป็นไปตามแผนก็ต้องเรียนรู้ที่จะแก้ใหม่ ถอดออก ทุกอย่างล้วนเกิดทักษะทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมือให้แข็งแรง เมื่อกล้ามเนื้อมือแข็งแรง ก็จับดินสอได้ดี จับดินสอได้ดีก็เขียนหนังสือได้ดี ทุกอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ถ้าไม่เร่งเด็ก ไม่ข้ามขั้นตอน ไม่มีเด็กคนไหนโง่แน่นอน
- ‘ทราย’ ของง่ายๆ ที่หาได้ทุกบ้าน กลายเป็นมหาวิทยาลัยของเด็ก
ทรายเป็นของที่หาได้ไม่ยากเลย ยากดีมีจนอย่างไรเราก็หาทรายให้เด็กเล่นได้ ทรายกับเด็กเป็นของคู่กันมากๆ เวลาเด็กเล็กเล่นอยู่บนกองทรายหรือกระบะทราย เราจะเห็นเขาเล่นด้วยกันบ้าง ต่างคนต่างเล่นบ้าง เราอาจเห็นว่าเขานั่งอยู่ที่กระบะเดียวกันหรือกองทรายเดียวกัน แต่เรื่องราวบนกองทรายนั้นเป็นจินตนาการของแต่ละคนและมันจะไม่เหมือนกันเลย ยิ่งถ้ามีของเล่นไม้ ที่ไม่สำเร็จรูปจนเกินไปให้เด็กๆ ได้สร้างเรื่องราวบนกองทรายเพิ่มอีกล่ะก็ รับรองได้ว่านั่นคือช่วงเวลาที่จินตนาการบรรเจิด สมองกำลังทำงานไม่ต่างอะไรกับการเรียนระดับมหาวิทยาลัยเลยทีเดียว เพราะทันทีที่มือ เท้าของลูกในวัย 2-3 ขวบสัมผัสของเล่นที่เป็นดิน ทราย นั่นคือการกระตุ้นการทำงานของสมอง ภายในสมองของลูกจะมีการสร้างเซลล์สมอง และมีการเชื่อมต่อของเซลล์สมองผ่านเส้นใยประสาท โดยมีสารสื่อประสาทเป็นตัวเชื่อมโยง ยิ่งมือ เท้าได้สัมผัสก็ยิ่งสร้างมากขึ้นและขยายวงจรอย่างต่อเนื่อง คือเซลล์สมองที่ยื่นแขนงยาวออกไปแตะกันเป็นล้านล้านตำแหน่ง
ถ้าจะให้พูดภาษาง่ายๆ นี่คือกระบวนการกระตุ้นความฉลาดให้สมองเด็ก กระบวนการนี้จะพัฒนาได้ดีมากในช่วงวัย 1-5 ขวบเท่านั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กจึงมักแนะนำให้เด็กเล่นทราย เพื่อกระตุ้นการสร้างเซลล์สมองให้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้แล้ว ทราย ยังช่วยให้เด็กมีจินตนาการ เพราะทรายสามารถสร้างได้สารพัดเรื่องราว เรียนรู้เรื่องรูปทรง เพราะทรายขึ้นรูปได้ง่าย จะเป็นทรงกลม ทรงเหลี่ยมก็เรียนรู้บนกองทราย และมิติสัมพันธ์ การทำงานประสานกันระหว่างมือและสายตา สิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องระวังเมื่อเด็กๆ อยู่บนกองทรายมีเรื่องเดียวคือ อย่าให้ขว้างทรายใส่กันเท่านั้นพอ
เมื่อแอบดูมาทั้งเดือนยิ่งทำให้มั่นใจว่านี่คือภารกิจ นี่คือการงานที่ยิ่งใหญ่ที่วัยเด็กทุกคนต้องได้ผ่านการงานนี้ ถึงจะเติบโตเป็นวัยรุ่น เป็นวัยผู้ใหญ่ที่สมดุลได้ ลองจินตนาการถึงวัยเด็กที่ถูกจำกัดให้อยู่แต่ในบ้าน มีของเล่นสำเร็จรูปหรือเกมดิจิตอลมากมายไว้ให้เล่น หรือไม่ก็เร่งส่งเข้าโรงเรียนเพื่อเร่งเขียน เร่งอ่านโดยไม่มีโอกาสได้เล่นอิสระ ไม่มีโอกาสได้สัมผัสโลกของธรรมชาติที่แท้จริงดูซิว่า… เด็กคนนั้นจะเติบโตเป็นวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่แบบไหนกัน
ผู้ใหญ่เองก็ต้องมีหน้าที่การงานที่ต้องทำให้ลุล่วงก่อนเริ่มงานชิ้นใหม่ เด็กก็เช่นเดียวกัน ‘การเล่น’ คือการงานชิ้นแรกของชีวิตที่ต้องทำให้ลุล่วงก่อนจะเริ่มงานชิ้นต่อไปในวัยต่อๆ ไปได้
ผู้ใหญ่อย่างเราจึงมีหน้าที่เดียวคือการช่วยให้เด็กได้บรรลุการงานชิ้นนี้ของเขา โดยไม่มีเรื่องความคาดหวัง ค่านิยมใดใดมาเป็นอุปสรรคขัดขวางการงานเขา
และพอมาถึงตรงนี้ก็น่าจะพอเห็นแล้วว่าแค่ผู้ใหญ่ให้ความสำคัญ คิดเพิ่มอีกนิด หาความรู้อีกหน่อย ออกแบบอย่างมีข้อมูล สนามเด็กเล่นที่ทำให้เด็กเล่น มันจะกลายเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชีวิตของเด็กได้เลยจริงๆ
ไม่เชื่อ…ลองดูกันไหม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น