วันจันทร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2563

7 รูปแบบการเรียนรู้ของมนุษย์

การส่งเสริมการเรียนรู้กับ 7 รูปแบบการเรียนรู้ของมนุษย์

ตลอดมาเราเคยเข้าใจกันว่า มนุษย์เรานั้นสามารถเรียนรู้ได้ ผ่านรูปแบบการเรียนรู้ที่เป็นแบบแผนและลักษณะเดียวกัน ซึ่งความเชื่อนี้นำมาสู่การสร้างรูปแบบการเรียนการสอนที่เป็นรูปแบบเดียว แต่เมื่อเวลาผ่านไป งานวิจัยต่าง ๆ เริ่มชี้ให้เห็นว่า ทักษะการเรียนรู้ของมนุษย์ไม่ได้จำกัดอยู่ในรูปแบบเดียว ดังนั้นการเรียนการสอนในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเพียงอย่างเดียวนั้น อาจไม่สามารถส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนให้มีประสิทธิภาพได้ทั้งหมด

 

มนุษย์เรามีความแตกต่างกันในเรื่องของการรับรู้และประมวลผลข้อมูล ซึ่งเป็นผลมาจากพันธุกรรม การเลี้ยงดูและสิ่งแวดล้อม ทำให้เรามีรูปแบบของความเชี่ยวชาญในการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน บางคนชอบที่จะฟังจึงเข้าใจ ในขณะที่บ้างคนต้องเห็นหรือลงมือทำ จึงจะสามารถจดจำข้อมูลใหม่ ๆ ได้ดี สิ่งเหล่านี้เอง ทำให้เราต้องสร้างสรรค์รูปแบบของการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อให้สามารถตอบสนองกับผู้เรียนได้ทุกกลุ่ม สำหรับรูปแบบการเรียนรู้ของมนุษย์เรานั้น เราสามารถแบ่งออกได้เป็น 7 ประเภทดังนี้

การมองเห็น

ผู้เรียนกลุ่มนี้จะสามารถจดจำลักษณะหรือรายละเอียดของรูปทรงและรูปร่างต่าง ๆ ซึ่งช่วยให้เขาสามารถประมวลผลข้อมูลที่เป็นรูปภาพหรือภาพเคลื่อนไหวได้ดี พวกเขาจะมีความเข้าใจในเรื่องของพื้นที่และทิศทาง สามารถเข้าใจรูปร่างของวัตถุและการเปลี่ยนแปลงของมันได้อย่างง่ายดายชื่นชอบการระบายสีและวาดภาพ มีความสมดุลในการใช้สี และมีทักษะในการใช้แผนที่ ที่ดี ซึ่งครูผู้สอนสามารถส่งเสริมผู้เรียนกลุ่มนี้ให้จดจำและเข้าใจในบทเรียนมากขึ้น โดยให้ผู้เรียนชมภาพหรือคลิปภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนกลุ่มนี้เข้าใจในบทเรียนมากยิ่งขึ้นได้

 

ภาพ : shutterstock.com

การฟัง

ผู้เรียนกลุ่มนี้ มีทักษะการฟังที่ดี เข้าใจจังหวะ สามารถจำแนกเสียงต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน ซึ่งทักษะนี้นับเป็นทักษะสำคัญสำหรับผู้ที่มีความสามารถในการร้องเพลงหรือเล่นดนตรี พวกเขาสามารถบอกได้ถึงอารมณ์ต่าง ๆ ของเพลง เพลิดเพลินกับการฟังเพลงแม้ในขณะที่ต้องเรียนรู้ มีความเข้าใจที่ดีในเรื่องจังหวะและทำนองและชอบฮัมเพลงเล่นในเวลาว่าง ดังนั้นการสร้างสรรค์บทเรียนให้เป็นเพลงหรือบทกวีจะช่วยให้ผู้เรียนกลุ่มนี้เข้าใจบทเรียนและสนุกสนานกับการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น

การพูด

ผู้เรียนกลุ่มนี้ จะเรียนรู้ได้ดีที่สุดเมื่ออยู่ภายใต้การสอนด้วยการพูดคุยและการเขียน พวกเขามักจะเก่งในด้านการใช้ภาษา สามารถแสดงความคิดเห็นผ่านการพูดหรือเขียนได้ดี สนุกสนานกับการอ่านและการเขียน รู้จักคำศัพท์มากมายและชอบเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ มีความสุขกับการพิมพ์ข้อความต่าง ๆ ผ่านสังคมออนไลน์ ซึ่งการจัดให้ผู้เรียนได้อ่านหนังสือ หรือส่งเสริมให้ผู้เรียนแสดงคำตอบหรือความคิดเห็นผ่านการเขียนบันทึกลงในสมุดอย่างสม่ำเสมอ จะเป็นประโยชน์ต่อการประมวลผลข้อมูลของผู้เรียนกลุ่มนี้เป็นอย่างมาก

 

ภาพ : shutterstock.com

การเคลื่อนไหว (การเคลื่อนไหวทางร่างกาย)

ผู้เรียนกลุ่มนี้ จะเรียนรู้ได้ดีเมื่อได้ใช้ประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหว ชอบสังเกตและชื่นชมความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่อยู่รอบตัว เช่น พื้นที่ สนุกกับการออกกำลังกาย เล่นกีฬา หรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง ชื่นชอบการสื่อสารด้วยภาษากาย และชื่นชอบแบบจำลองและการต่อจิ๊กซอว์ ดังนั้นควรส่งเสริมกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนได้ใช้ประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหว เช่น แสดงบทบาทสมมุติหรือเคลื่อนตามแบบแผน ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนกลุ่มเรียนรู้ข้อมูลใหม่ ๆ ได้ดีขึ้น

ความเข้าใจเชิงตรรกะ

ผู้เรียนกลุ่มนี้ จะมีความคิดเชิงตรรกะที่ดี สามารถจำแนกหรือจำกลุ่มข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้ตัวเองเข้าใจได้ง่ายขึ้น เชี่ยวชาญในการคำนวณที่ซับซ้อน มีการดำเนินการต่าง ๆ เป็นขั้นตอน มีการเก็บข้อมูลเพื่อจัดการกับปัญหาที่คล้ายคลึงกันในอนาคต มีการวางแผนและจัดลำดับต่าง ๆอย่างเป็นระบบ และชื่นชอบกับกิจกรรมที่ต้องใช้สมอง เช่น การระดมสมองหรือเล่นเกมที่ต้องใช้ความคิด เป็นต้น ดังนั้นสำหรับผู้เรียนกลุ่มนี้ ครูผู้สอนจะต้องสร้างบทเรียนให้มีความเป็นระเบียบแบบแผนและท้าทายความคิดของผู้เรียน ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้วางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาจัดระบบข้อมูลใหม่ได้ดีขึ้น

 

ภาพ : shutterstock.com

ความร่วมมือ

ผู้เรียนกลุ่มนี้ ชื่นชอบการมีส่วนร่วมและทำงานร่วมกัน ชอบพบปะสังสรรค์ สนุกสนานกับการเล่นหรือการทำงานเป็นกลุ่ม เป็นผู้ฟังที่ดี รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น รู้จักประนีประนอมเพื่อแก้ปัญหาภายในกลุ่ม และมักจะได้รับความไว้วางใจในการให้คำแนะนำต่าง ๆ จากสมาชิกภายในกลุ่ม ซึ่งการมอบหมายงานที่ต้องทำแป็นกลุ่มให้จะเป็นวิธีที่ดึงดูดความสนใจของผู้เรียนกลุ่มนี้ได้ดีที่สุด

รักสันโดษ

ผู้เรียนกลุ่มนี้ จะเรียนรู้ได้ดีเมื่ออยู่ตามลำพังในที่เงียบสงบ ชอบอยู่คนเดียวและใช้เวลาในการวิเคราะห์ตนเอง ชื่นชอบการปลีกวิเวก มีความคิดที่เป็นอิสระ และมักจะบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ของตัวเอง ซึ่งการจัดให้ผู้เรียนกลุ่มนี้ได้นั่งเรียนในพื้นที่ที่เงียบสงบและไม่มีสิ่งใดมารบกวนสมาธิจะทำให้พวกเขาเรียนรู้ได้ดีขึ้นกว่าเดิม

 

ทั้ง 7 รูปแบบการเรียนรู้ของมนุษยนี้ แท้ที่จริงแล้ว เราสามารถที่จะเรียนรู้ผ่านรูปแบบทั้ง 7 นี้กันได้ทุกคน แต่จะมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับตัวตนและความสามารถของแต่ละบุคคล เพราะแต่ละรูปแบบนั้นมีเอกลักษณ์ที่เฉพาะที่อาศัยทักษะและการฝึกฝน ซึ่งแต่ละคนมีไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ดี การจัดการเรียนรู้ให้มีการนำเสนออย่างเหมาะสมทั้ง 7 รูปแบบนั้น จะช่วยให้ผู้เรียนที่มีรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลายสามารถเรียนรู้ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับปรัชญาการศึกษาที่สนับสนุนให้เกิดความเท่าเทียมกันเป็นอย่างยิ่ง

 

เรียบเรียงโดย : นรรัชต์  ฝันเชียร

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น