วันเสาร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2563

เลี้ยงลูกวัยรุ่น

#เลี้ยงลูกวัยรุ่น
.
ลูกของคุณโตขึ้นทุกวันและพฤติกรรมก็จะเปลี่ยนไปตามช่วงวัย วันหนึ่งเมื่อเขาเป็นวัยรุ่นแล้ว พ่อแม่ควรปรับตัวในการเลี้ยงดูพวกเขาอย่างไร
มาดูคำแนะนำจากคุณก้อย - นางสาวแก้วตา สัตยาประเสริฐ นักจิตวิทยาคลินิค รพ.รามาธิบดีนฤบดินทร์กันครับ
.
#สิ่งที่ควรทำ
1. ยอมรับว่าลูกมีความคิดที่โตขึ้น เด็กวัยนี้เริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง ฉะนั้น หากความคิดของเขาไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร คุณก็ไม่ควรยัดเยียดความคิดตัวเองให้เขาและยอมรับความคิดของเขา
.
2. สื่อสารอย่างเข้าใจ การสื่อสารที่ไม่อธิบายเหตุผลใดๆ ประกอบ ไม่ใช่เรื่องดีกับวัยนี้ เช่น การบอกว่าแม่ต้องการอะไรแล้วบังคับให้เขาทำเป็นเรื่องไม่ดีแน่ แต่ควรเป็นการขอร้องและเปิดโอกาสให้เขาเลือกทำหรือไม่ทำได้
.
3. เป็นผู้ฟังที่ดี การพูดคุยกับลูก เมื่อลูกเป็นฝ่ายพูดพ่อแม่ต้องฟังให้จบก่อนทุกครั้งก่อนที่จะตอบโต้กลับไป ไม่ควรตัดสินว่าลูกคิดผิดทันที แต่ให้ใช้วิธีตอบกลับแบบตะล่อมถามว่า “ลูกคิดว่าผลมันจะเป็นอย่างไรหรอถ้าทำแบบนี้” เพื่อไม่ให้สถานการณ์ตึงเครียดเกินไปแม้คิดไม่ตรงกัน
.
4. หาข้อมูลสิ่งที่ลูกวัยรุ่นสนใจ โดยเฉพาะความสนใจของลูกของคุณเองจะได้มีเรื่องมาคุยกับลูกหรือวันไหนที่ลูกมีอะไรสงสัย คุณก็จะมีข้อมูลให้คำปรึกษาลูกได้ทันทีทันใด
.
.
#สิ่งที่ไม่ควรทำ
1. คิดว่าลูกยังเด็กอยู่เสมอ หลายครั้งพ่อแม่มองว่าลูกยังอายุน้อย ขาดประสบการณ์และไม่เข้าใจเรื่องราวต่างๆ เหมือนผู้ใหญ่ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงเพียงบางส่วน แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ควรคิดแบบนี้ เพราะจะทำให้ลูกไม่มีการพัฒนา ควรให้โอกาสและคำแนะนำดีกว่า เช่น ถามลูกบ่อยๆ ว่า “หนูคิดว่าควรทำยังไงดี” หรือ “ลองทำแบบนี้ดีกว่าไหม” 
.
2. ใช้คำพูดไม่ถนอมน้ำใจลูก ในกรณีที่ลูกอาจทำไม่สำเร็จเท่าความคาดหวังของพ่อแม่ พ่อแม่ก็ไม่ควรพูดจาแรงๆ กับเขา เช่น “ทำไมไม่อ่านหนังสือ” “ทำไมไม่ทำงานบ้าน” “ทำไมไม่เชื่อฟังฉัน” “ฉันหวังดีนะถึงได้บอก” เพราะใครได้ยินก็คงไม่อยากทำตามเช่นกัน
.
3. ใช้ความเป็นพ่อแม่กดลูก ไม่ควรใช้อำนาจ บังคับลูกทำและเชื่อสิ่งที่ลูกไม่เชื่อเหมือนกัน ฉะนั้น ควรจะถามลูกว่างั้นลูกคิดว่าทำอย่างไรดี แล้วคิดว่าทำอย่างนี้ผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไรดีกว่า
.
4.  ทำงานจนไม่มีเวลาให้ครอบครัว ทุ่มเทเวลาให้กับงานมากไปจนไม่มีเวลาให้ลูก ข้อนี้อันตรายตรงที่ลูกอาจหลงไปในทางที่ไม่ดีได้
.
อย่างไรก็ตาม คุณก้อยบอกว่าการยอมรับว่าลูกโตแล้วเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่วัยรุ่นต้องการ เพราะเขามองว่าตัวเองโตแล้ว มีความคิดที่ดีและคิดเองได้แล้ว ถึงไม่มั่นใจเต็มร้อยแต่เด็กวัยนี้มองว่าตัวเองกำลังจะไปถึงจุดนั้นอย่างแน่นอน
.
ฉะนั้น หากผู้ปกครองยังยึดติดกับความคิดที่ว่า “ลูกยังเด็กอยู่เสมอ” ก็ถือเป็นเรื่องที่ไม่ดีแน่ เพราะขัดกับความเชื่อส่วนตัวของลูกและสุดท้ายทำให้ลูกพยายามถอยห่างออกไป
.
.
อ้างอิงข้อมูลจาก นางสาวแก้วตา สัตยาประเสริฐ นักจิตวิทยาคลินิค รพ.รามาธิบดีนฤบดินทร์
.
อ้างอิงภาพจาก http://bit.ly/30wWZvQ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น