วันพุธที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2563

จะเรียนอะไร ไม่ควรมองที่ปัจจุบัน แต่ให้มองที่อนาคตโดย ดร. วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

จะเรียนอะไร ไม่ควรมองที่ปัจจุบัน แต่ให้มองที่อนาคต
โดย ดร. วิโรจน์ ลักขณาอดิศร
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
.
ก่อนที่ผมจะเข้าสู่เนื้อหา ผมอยากจะเล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัว เมื่อครั้งที่เรียนอยู่ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ของตนเองเสียก่อนครับ ในช่วงที่กำลังจะขึ้นชั้นปีที่ 2 นิสิตที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะต้องเลือกภาควิชาครับ ซึ่งผมจำได้ว่า ภาควิชาวิศวกรรมปิโตรเลียม ในขณะนั้น เป็นภาควิชาที่มีคนเลือกน้อยมาก และไม่ได้เป็นที่นิยมมากนัก ในตอนนั้นภาควิชาที่มีคนเลือกกันมากๆ และเป็นที่นิยมก็คือ ภาควิชาวิศวกรรมโยธาครับ เรียกได้ว่านิสิตที่มีผลการเรียนที่ดี หลายคนจะเลือกเรียนในภาควิชานี้ครับ เพราะในช่วงเวลานั้น โครงการก่อสร้าง และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศนั้นกำลังบูมมากๆ (ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการพัฒนาประเทศในยุคของ ฯพณฯ นายกฯ ชาติชาย) 
.
ใครจะไปรู้ล่ะครับว่า ในอีก 3 – 4 ปีถัดมา ในปี พ.ศ. 2541 – 2542 ประเทศไทยจะต้องประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง วิศวกรโยธา จากที่เคยเป็นวิศวกรที่มีความต้องการจากตลาดแรงงานสูงมากๆ กลับกลายเป็นอาชีพที่มีความลำบากในการหางานมากที่สุด เพราะโครงการต่างๆ หยุดชะงักลงดื้อๆ เลยครับ วิศวกรโยธาจำนวนไม่น้อยต้องถูกปลดออกจากงาน พอเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นมา อุตสาหกรรมที่บูมขึ้นมากลับเป็นอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ราคาน้ำมันขึ้นเอาๆ วิศวกรปิโตรเลียม ที่มีคนเรียนไม่มากนัก กลับกลายเป็นวิศวกรที่ตลาดแรงงานต้องการสูงมากๆ และผลักดันให้ภาควิชาวิศวกรรมปิโตรเลียม กลายเป็นภาควิชาที่ได้รับความนิยมสูงสุด แต่เมื่อเวลาผ่านไป ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีพลังงาน ทำให้วิศวกรปิโตรเลียม เริ่มมีความต้องการจากตลาดแรงงานคงตัวขึ้น ไม่บูมเหมือนแต่ก่อน ทำให้คนที่เลือกเรียนในภาควิชานี้ ไม่ได้มีโอกาสก้าวหน้าในการทำงานเหมือนกับรุ่นพี่ๆ และทำให้ความนิยมในการเลือกภาควิชาวิศวกรรมปิโตรเลียม เริ่มปรับตัวลดลง ตามกระแสของงานใน “ปัจจุบัน”
.
จริงๆ แล้ว การเลือกว่าจะเรียนอะไร ควรจะเลือกจาก “ความชอบ” และ “ความมุ่งมั่น” ของผู้เรียน น่ะดีที่สุดครับ เพราะไม่ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เราก็จะยังคงมีความภาคภูมิใจในอาชีพ และมีความสุขในการทำงานในสิ่งที่ตนเองรัก 
.
ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ มีเพื่อนๆ วิศวกรโยธาหลายคน ที่ตัดสินใจเปลี่ยนสายอาชีพ ไปทำงานด้านอื่น เพราะไม่สามารถทนกับภาวะการว่างงาน หรือไม่สามารถรับกับอัตราเงินเดือนที่ลดลงได้ แต่ก็มีวิศวกรโยธาอีกจำนวนหนึ่ง ที่มีใจรักในอาชีพ กัดฟันทำงานวิชาชีพ และพัฒนาตนเองในสายวิชาชีพเรื่อยมา เชื่อไหมครับว่า ในปัจจุบันประเทศไทย เราขาดแคลนวิศวกรโยธา รุ่นใหม่ที่มีประสบการณ์ (อายุประมาณ 40 – 45 ปี) เป็นอย่างมากนะครับ เพราะคนที่เรียนจบทางด้านวิศวกรรมโยธาในยุคนั้น หลายคนต่างเปลี่ยนสายอาชีพกันหมด และหลังจากนั้นคนที่เลือกเรียนวิศวกรรมโยธา ก็มีจำนวนน้อยลงไปตามลำดับ ทำให้วิศวกรโยธาที่มีอายุเฉลี่ย 40 – 45 ปี ที่อดทนฟันฝ่าทำงานในสายอาชีพ และพัฒนาตนเองให้กลายเป็น สามัญวิศวกร หรือวุฒิวิศวกร มีความต้องการจากวงการวิชาชีพ เป็นอย่างมากเลยครับ
.
เรื่อง “ความชอบ และความมุ่งมั่น” เป็นอันดับหนึ่งครับ แต่ถ้าจะมองปัจจัยข้างเคียงเป็นลำดับที่สอง เพื่อประกอบการตัดสินใจว่า “เราควรเรียนอะไรดี” คงไม่ใช่ “สภาวะในปัจจุบัน” แน่ๆ ครับ แต่เป็น “การคาดการณ์ในอนาคต” อะไรที่กำลังบูมในปัจจุบัน อนาคตอาจจะไม่บูมเหมือนตอนนี้ก็ได้ หรืออาจจะหดหายไปเลยก็มีความเป็นไปได้นะครับ ดังนั้นสิ่งที่เราต้องพิจารณาประกอบ ต้องเป็น “บริบทแห่งอนาคต” ครับ
.
เมื่อเดือนตุลาคม ปีก่อน ทิม คุก (Tim Cook) CEO ของ Apple ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อในประเทศฝรั่งเศสว่า “หากผมเป็นนักเรียนฝรั่งเศสที่อายุ 10 ขวบ ผมคงคิดว่า การเรียน coding สำคัญกว่าการเรียนภาษาอังกฤษ ผมไม่ได้บอกให้ทุกคนหยุดเรียนภาษาอังกฤษ แต่ Coding เป็นภาษาที่สามารถสื่อสารกับคน 7 พันล้านคนบนโลกนี้ได้” (http://fortune.com/2017/10/13/tim-cook-coding-english) 
.
ใช่ครับ ในอนาคต สิ่งที่เด็กในยุคนี้ต้องเจอ ต้องประสบมันคือ Artificial Intelligence (AI) และ Machine Learning (การที่คอมพิวเตอร์ สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวของมันเอง) โดยส่วนตัว ผมไม่ได้หมายความว่า ภาษาอังกฤษไม่สำคัญนะครับ แต่ผมเชื่อว่า ภาษาอังกฤษ จะกลายเป็นเรื่องสามัญ หรือเป็นทักษะบังคับ ที่เด็กต้องใช้ได้อยู่แล้ว และความสำคัญของ “สำเนียง” จะลดลงไปอย่างมาก ผมเชื่อว่าในยุคอนาคต ภาษาอังกฤษ จะไม่ใช่ภาษาของคนอังกฤษ หรือคนอเมริกัน อีกต่อไป แต่จะเป็นภาษากลางของคนทั้งโลก ที่สำเนียง ไม่ว่าจะสำเนียงไหน ก็จะได้รับการยอมรับทั้งสิ้น แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้น มันคือ “ภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์” ที่คนในยุคนั้นจะต้องเข้าใจ และต้องสามารถใช้มันเป็นเครื่องมือ ในการถ่ายทอดตรรกะ และความคิดสร้างสรรค์ ไปสู่ผลิตภัณฑ์ และการบริการต่างๆ 
.
ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ในอนาคตบทบาทของ AI และ Machine Learning จะมีบทบาทมากๆ ในทุกๆ วิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นอาชีพ วิศวกรรม บัญชี การเงินและการลงทุน การสื่อสารมวลชน วงการบันเทิง และแม้แต่วงการการแพทย์ (ที่ปัจจุบันก็เริ่มมีการใช้หุ่นยนต์ในการผ่าตัด และมีเครื่องมือในการวินิจฉัยที่ทันสมัย ให้เห็นกันบ้างแล้ว) เรียกได้ว่า Coding (การรู้จักภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์) จะไม่ใช่ทักษะของคนที่ประกอบอาชีพทางด้านโปรแกรมเมอร์ อีกต่อไปครับ แต่จะเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับคนในทุกๆ อาชีพ และเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องอยู่กับมันไปตลอดชีวิต
.
ปัจจุบัน การเรียนรู้จะมุ่งเน้นไปที่เนื้อหาสาระ (Content Based Learning) คนที่รู้เนื้อหาสาระ ก็จะถือว่าเป็นคนที่มีความรู้ และมีใบปริญญา และวุฒิบัตรต่างๆ เป็นหลักฐานของการมีความรู้ แต่ในอนาคตเนื้อหาสาระต่างๆ จะถูกสืบค้นได้ง่ายมากๆ ผ่านโลกอินเตอร์เน็ต ดังนั้นเนื้อหาสาระ จึงไม่ใช่สิ่งที่สำคัญอีกต่อไป สิ่งที่สำคัญกว่ารู้ หรือไม่รู้ คือ “การมีทักษะ ทำเป็น หรือ ทำไม่เป็น” ต่างหากครับ และต่อให้ “ทำเป็น” ก็ต้องมาวัดกันว่า ที่บอกว่า “ทำเป็น” นั้นทำอะไรเป็นบ้าง ทำได้แค่ไหน การเรียนรู้ในโลกอนาคต เราจะสนใจใน “ทักษะ” มากขึ้น (Skill Based Learning) สำหรับวุฒิบัตรต่างๆ จะถูกประเมินจาก “ทักษะ” ว่าทำเป็นหรือไม่ ไม่ใช่ประเมินจาก “รู้หรือไม่” แบบในปัจจุบัน
.
ดังนั้น Coding จึงเป็น “ทักษะ” ที่เด็กควรจะต้องมี เพื่อรองรับอนาคต เมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ครับ (http://bit.ly/2NAPHQg และ http://bit.ly/2LsjHAu) เจ้า Coding ที่ว่านี้ ก็คือ ภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่ปัจจุบันความยากของการ Coding ไม่ได้อยู่ที่ Syntax หรือโครงสร้างในการเขียนภาษาคอมพิวเตอร์อีกต่อไปนะครับ แต่มันอยู่ที่ตรรกะ และความคิดสร้างสรรค์ ในการสร้างภาษาเพื่อให้คอมพิวเตอร์ นั้นช่วยคำนวณ ช่วยตัดสินใจ หรือช่วยแก้ไขปัญหาบางอย่าง
.
หลายๆ เรื่อง ที่ในยุคก่อนต้องใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ หรือเมนเฟรม ในปัจจุบันสามารถใช้โครงสร้างของภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ง่ายๆ และสามารถทำงานผ่าน Microbit (หนังสือ Microbit และ STEM Education เล่มนี้ดีนะครับ http://bit.ly/2uF1ndA) หรือ Smartphone เครื่องเล็กๆ ได้เลย
.
ความยากของภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน ไม่ได้อยู่ที่การเข้าใจ Syntax อีกต่อไป แต่เป็นการคิดสร้างสรรค์ และการใช้ตรรกะ ในการคิดถึง Flow Chart ที่ครอบคลุม คิดถึง Criteria ที่จำเป็น และการวางลำดับก่อนหลังของกระบวนการต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ได้อย่างตรงจุดต่างหากครับ ดังนั้น Coding จึงไม่ใช่วิชาที่สอนให้เด็กรู้จักกับโครงสร้างภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ในแบบที่คนในยุคนี้เคยเรียนมา ไม่ว่าจะเป็นภาษา C ภาษาปาสคาล ฯลฯ แต่เป็นการฝึกให้เด็กคิดอย่างมีตรรกะ คิดโดยมุ่งที่จะแก้ปัญหาเพื่อตอบโจทย์อย่างมีวัตถุประสงค์ต่างหากครับ (เด็กที่ Coding เก่งๆ มักจะเป็นเด็กที่ชอบเรียน และมีผลการเรียนในวิชาคณิตศาสตร์ที่ดี มีความเข้าใจแก่นของวิชาคณิตศาสตร์ในบทต่างๆ ดีมาก ชอบที่จะคิดแก้ปัญหา ชอบที่จะประยุกต์ใช้วิชาคณิตศาสตร์ ผมย้ำมาตลอดนะครับว่า วิชาคณิตศาสตร์ ไม่ใช่แค่คำนวณเร็ว ไม่ใช่แค่การจำสูตร แล้วแทนค่าตามตัวอย่างที่โจทย์ให้มา แต่เป็นการคิดเชิงตรรกะเพื่อแก้ปัญหามากกว่าครับ)
.
ปัจจุบัน Coding สำหรับภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่กำลังได้รับความนิยมในระดับที่ Advanced หน่อย ก็คือ Python ครับ แต่สำหรับเด็กๆ ที่กำลังหัด Coding ก็จะมีการใช้ภาษาที่ง่ายกว่า Python ส่วนใหญ่จะเป็น Block หรือเป็นคำสั่งสำเร็จรูป ที่ให้เด็กสามารถลากมาต่อๆ กัน ตามตรรกะที่เด็กคิด (ผมบอกไว้แล้วไงครับ ว่าปัจจุบันความยากของการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ ไม่ได้อยู่ที่ Syntax หรือโครงสร้างภาษา แต่เป็นตรรกะมากกว่าครับ) เพื่อแก้ปัญหา หรือตอบโจทย์บางอย่างที่ถูกกำหนดขึ้น 
.
สำหรับภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่มักจะฝึกให้เด็ก Coding ก็มี ดังต่อไปนี้ครับ (http://bit.ly/2LBltMd)
.
1) Scratch
2) Blockly
3) Swift Playgrounds
4) Alice
5) Twine
6) Lego Mindstorm Robotics
7) Kodu
.
สำหรับที่เรารู้จักกันมากหน่อย ก็จะเป็น Swift Playgrounds ของค่าย Apple อีก 2 ภาษาที่นิยมเช่นกัน ก็จะเป็น Scratch และ Blockly ครับ
.
ปัจจุบันเริ่มมีโรงเรียนสอน Coding เกิดขึ้นบ้างเหมือนกันนะครับ แต่เท่าที่ผมดอดไปพูดคุย หรือสอบถาม ส่วนใหญ่ยังเป็นการสอนแบบเก่า คือ สอนให้เด็กเข้าใจ Syntax และโครงสร้างภาษาคอมพิวเตอร์ (ซึ่งปัจจุบันมันไม่ได้ยากอะไรแล้วครับ โครงสร้างมันเหมือนภาษามนุษย์ โดยทั่วไปมากๆ) แต่ไม่ได้สอนให้เด็กรู้จักกำหนดปัญหา ไม่ได้สอนให้เด็กฝึกคิด ฝึกตรรกะ ฝึกลำดับขั้นตอนในการแก้ปัญหาเลย คือต่อให้ใช้ภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แบบใหม่ แต่ถ้ายังสอนแบบเก่าๆ ก็ไม่เกิดประโยชน์ครับ
.
สำหรับผมเอง ผมมีความเชื่อครับว่า ภาษาอังกฤษ อย่างไรคงต้องเป็นทักษะสามัญอยู่แล้ว (ไม่ได้บอกว่าไม่สำคัญนะครับ) แต่สิ่งที่จะเป็นทักษะแห่งอนาคต ที่เด็กในยุคนี้ต้องอยู่กับมันตลอดชีวิต ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไรก็ตาม ก็คือ Coding ครับ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่คิดเหมือนกับผม และเอาอนาคตเป็นที่ตั้งของการเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจว่า อะไรเป็นสิ่งที่ควรเรียนรู้ Coding นี่ล่ะครับ ตอบโจทย์เลย 
.
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
#EducationFacet #พัฒนาการลูก #เรื่องเรียนของลูก #สอนลูก
.
สนใจหนังสือ “ปูทางให้ลูกไป สู่เส้นชัยที่ลูกหวัง” ของ ดร. วิโรจน์: http://bit.ly/BuildTheWay 
.
Photo: http://bit.ly/2LBltMd

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น